มาดูเทรนด์เทคโนโลยีในปี 2021 กันว่ามีอะไรบ้าง แบบเข้าใจง่าย ๆ

          สวัสดีครับ การเข้ามาของเทคโนโลยีนั้นช่วยปฏิวัติวงการดิจิทัลทั่วโลกอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งนวัตกรรม และการพัฒนาต่าง ๆ ถูกเร่งให้มีกระบวนการพัฒนาด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น การระบาดของ COVID-19 ยิ่งเป็นการเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้มากขึ้น ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าเทคโนโลยีที่เราควรรู้จักในปี 2021 มีอะไรบ้าง

Artificial Intelligence

AI ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดภาระการทำงานของมนุษย์ และมีการทำงานเหมือนกับระบบสมองของมนุษย์ ถ้าให้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบง่าย ๆ AI ก็จะเหมือนเด็กแรกเกิด ที่เริ่มต้นจะไม่รู้อะไรเลย เราจึงต้องป้อนข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อให้ AI ได้เรียนรู้ ได้ลองผิดลองถูก เหมือนกับเด็ก ๆ ที่ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก จนต้องลองเจอด้วยตนเองถึงจะเข้าใจได้

AI ยังมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ระบบนำทางในสมาร์ตโฟนที่ใช้ AI ในการคำนวณระยะทาง คำนวณระยะเวลา และแสดงเส้นทางที่สามารถใช้ในการเดินทางได้ หรือ แชทบอทขายของ ที่จะคอยตอบคำถามของลูกค้า รับออเดอร์จากลูกค้า แจ้งเตือนออเดอร์ที่ได้รับการจัดส่ง โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาในการรอพ่อค้า แม่ค้าคอยตอบคอยรับเรื่องอยู่เสมอ ๆ

5G

          5G เป็นชื่อของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ 5 ที่จะเป็นมาตรฐานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือระดับโลกตัวใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในรุ่น 1G, 2G, 3G และ 4G

          เครือข่าย 5G จะทำให้เกิดเครือข่ายรูปแบบใหม่ ที่ถูกออกแบบมาให้เชื่อมต่อแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างและผู้คนซึ่งรวมไปถึงเครื่องจักร วัตถุ และอุปกรณ์

          เครือข่าย 5G เกิดขึ้นเพื่อส่งมอบข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุด มี Latency ที่ต่ำมาก มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น สามารถรองรับเครือข่ายขนาดใหญ่ได้ ผู้ใช้สามารถใช้งานได้พร้อมกันมากขึ้น และเครือข่ายมีความเสถียรสูง ซึ่งที่กล่าวมานี้จะช่วยให้สามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับผู้ใช้ใหม่ได้

Edge Computing

          Edge Computing เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการประมวลผลแบบกระจาย โดยการประมวลผลข้อมูลที่อยู่ใกล้กับขอบ ซึ่งความหมายของคำว่าขอบในที่นี้ก็คือ ใกล้ ๆ กับแหล่งข้อมูล

Edge Computing จะประมวลผลอยู่ใกล้กับแหล่งข้อมูล ซึ่งพูดง่าย ๆ ว่ามันประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ตรงขอบของโครงข่าย (แหล่งข้อมูล เอาแบบง่าย ๆ ถ้านึกไม่ออกก็ IoT นั่นล่ะ) แทนที่จะประมวลผลอยู่ในจุดศูนย์กลางของโครงข่ายเหมือน Cloud Computing ซึ่งพอเป็นการประมวลผลใกล้ ๆ กับแหล่งข้อมูล ก็จะช่วยลดระยะเวลาในการส่งข้อมูลไปได้ แทนที่จะส่งข้อมูลทั้งก้อนไปประมวลผลบน Cloud ที่อยู่ไกลลิบให้เสียเวลา ก็ส่งข้อมูลมาประมวลผลแบบ Edge ที่อยู่ใกล้ ๆ กับเราก่อน แล้วค่อยส่งข้อมูลที่ถูกประมวลผลเสร็จแล้วไปยัง Cloud ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับ Cloud อีกด้วย

Internet of Behavior (IoB)

          Internet of Behavior(IoB) คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ถูกรวบรวมมาจาก IoT และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยข้อมูลต่าง ๆ จะถูกรวบรวมผ่านอุปกรณ์สวมใส่ กิจกรรมส่วนบุคคลในโลกออนไลน์ อุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน ที่สามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ จากผู้ใช้ได้

Quantum Computing

Quantum Computing เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณที่เน้นเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้หลักการพัฒนาโดยทฤษฎีควอนตัม เป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงพฤติกรรมของพลังงานและโครงสร้างในระดับอะตอมและอนุภาคย่อยของอะตอม คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันใช้การเข้ารหัสแบบบิต (Binary Digit) หรือพูดง่าย ๆ เป็นระบบที่เข้ารหัสเป็นเลขฐาน 2 คือ 0 หรือ 1 คอมพิวเตอร์ใช้สื่อสารกันโดยใช้เลขแบบนี้กันเสมอ ถ้าให้พูดแล้วเหมือนคอมพิวเตอร์ถูกจำกัดความสามารถไว้

แต่ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์แบบควอนตัมแล้ว จะใช้ควอนตัมบิตหรือคิวบิต (Qubit) หากให้อธิบายง่าย ๆ ว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าคอมพิวเตอร์แบบปกติใช้เลข 0 หรือ 1 เหมือนกับต้องเลือกว่าจะเลือก 0 หรือ 1 แต่ถ้าเป็นคิวบิตแล้ว เราสามารถเลือก 0 และ 1 ได้พร้อมกัน อธิบายแบบนี้อาจจะงง ๆ หน่อย เอาให้ง่ายกว่านี้ มีทางเลือกการเดินให้ 2 ทางเลือก ไปทางซ้ายหรือไปทางขวา ซึ่งเราก็ต้องเลือกสักทางหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคิวบิต เราไปสามารถเลือกที่จะไปได้ 2 ทางในพร้อมกัน เหมือนแยกร่างได้

Blockchain

          Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย โดยปกติแล้ว Blockchain จะมีการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์ทำให้ข้อมูลที่ถูกเก็บมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ไม่เพียงเท่านี้ เราสามารถรู้ได้ว่าข้อมูลที่ถูกเก็บนั้น เก็บ ณ เวลาใด ตอนไหน มีการแก้ไขอะไรรึเปล่า โดยที่ข้อมูลเหล่านี้จะถูกกระจายและเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่บนเครือข่าย ทำให้เราสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลนั้นมีความปลอดภัย เพราะทุกการกระทำใด ๆ ก็ตามทุก ๆ คนที่อยู่บนเครือข่ายสามารถเห็นและรับรู้ได้ ดังนั้นในกรณีที่หากเราต้องการจะแก้ข้อมูลอะไรสักอย่างหนึ่ง มีเพียงทางเดียวที่จะทำได้ก็คือการไปแก้ข้อมูลที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่บนเครือข่ายนั้น ซึ่งทำให้เป็นไปได้ยากมาก ๆ ในการทำเช่นนั้นถ้าเกิดเครือข่ายนั้นใหญ่เพียงพอ

Cyber Security

          Cyber Security ให้พูดง่าย ๆ ก็จะเป็นการป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เช่น ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และข้อมูลต่าง ๆ ที่มีโอกาสถูกภัยคุกคามจากอินเทอร์เน็ต ป้องกันการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตนั่นเอง ซึ่งการป้องกันนั้นก็มีอยู่หลายแบบด้วยกัน

Human Augmentation

          Human Augmentation คือ เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพ หรือความสามารถของมนุษย์แบบใดแบบหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในร่างกายมนุษย์ บางอาจจะงง สรุปมันเป็นอย่างไรกันแน่ ต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เป็น Human Augmentation นั้น เป็นส่วนเสริมให้กับมนุษย์อย่างเรา ๆ จนเหมือนกลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของเรา มีแล้วชีวิตดีขึ้น เช่น การที่เรามีสมาร์ตโฟนก็จะช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา หากขาดมันไป เราก็จะต้องเสียเวลาหาข้อมูลที่เราต้องการจากที่อื่น ๆ เพราะฉะนั้น การมีสมาร์ตโฟน ช่วยให้เรามีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่อีกกรณีที่ไม่นับว่าเป็น Human Augmentation เช่น ค้อน เราต้องการค้อนเฉพาะตอนที่เราต้องการเท่านั้น อาจะต้องการค้อนเอาไว้ตอกตะปูซ่อมหลังคา หรือทำงานช่างอะไรสักอย่าง แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องการค้อนเป็นระยะเวลาเฉพาะในช่วง ๆ หนึ่งเท่านั้น

Distributed Cloud

          Distributed Cloud คือ Cloud Computing ที่เชื่อมต่อข้อมูลและแอปพลิเคชันจากสถานที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ปกติตอนที่เราใช้ Cloud Computing เราจะต้องเลือกสถานที่ที่ตั้งของ Cloud โดยสามารถเลือกเพียงแค่สถานที่เดียวเท่านั้น และ Cloud แต่ละประเภทก็มีผู้ให้บริการที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าเป็น Distributed Cloud เราสามารถรวมบริการ Cloud ประเภทที่แตกต่างกัน เข้าอยู่ใน Infrastructure เดียวกัน ซึ่งพอเป็นแบบนี้แล้ว มันก็จะช่วยให้ความเร็วในการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น และรองรับปริมาณการสื่อสารข้อมูลได้มากขึ้น และทำให้เวลาที่เราจัดการ Cloud เราไม่จำเป็นต้องเปิดใช้ทีละบริการ เสียเวลาเปิดหานั่งนึกว่า Cloud นี้อยู่กับผู้บริการไหน เพราะทุกอย่างรวมอยู่ใน Infrastructure เดียวกันหมดแล้ว

Augmented Reality และ Virtual Reality

          Augmented Reality (AR) คือ การนำเทคโนโลยีที่ใช้องค์ประกอบของภาพดิจิทัล เสียง หรือสิ่งกระตุ้นทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ ผสานเข้ากับโลกของความจริง โดยหลักการทำงานของ AR คือการฉายภาพ 3 มิติ ของวัตถุนั้น ๆ บนโลกแห่งความจริง ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ เลย เกม Pokémon GO เป็นการนำตัวโปเกมอนผสานเข้ากับโลกแห่งความจริงผ่านทางกล้องหลังของโทรศัพท์ เสมือนมีตัวโปเกมอนอยู่ในโลกจริง ๆ ของเรา

          Virtual Reality (VR) คือ การใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์สร้างสภาพแวดล้อมจำลองที่ให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์เสมือนจริง เสมือนเราเข้าไปอยู่ ณ ที่นั้น ๆ ซึ่งจะต่างจาก UI ปกติทั่ว ๆ ไป ที่เราสามารถดูได้แค่เพียงผ่านทางหน้าจอเท่านั้น VR จะช่วยให้ผู้ใช้ได้ดื่มด่ำและสามารถโต้ตอบกับโลก 3 มิติได้ ผ่านทางการจำลองประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส หรือการดมกลิ่น

เขียนโดย Akiraz

KAI

อ้างอิงจาก Elena Smith (2021) Top 10 latest technology trends you must follow in 2021, Available at: https://www.itproportal.com/features/top-10-latest-technology-trends-you-must-follow-in-2021/ (Accessed: 20th September 2021).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *