มาดูกันว่า GameFi คืออะไร? แตกต่างจากการเล่นเกมรูปแบบปกติอย่างไรบ้าง?

GameFi

          สวัสดีครับ เราอาจจะเคยเห็นเกมที่เป็น GameFi บ้าง อย่างยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็จะเป็น Axie Infinity ที่เคยร้อนแรงอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งเกมเหล่านี้นั้นเป็นเกมแบบ Play-to-Earn (P2E) หรือเรียกได้ว่าเป็นเกมที่สามารถเล่นเพื่อหาเงินได้ ซึ่งกลุ่มเกมเหล่านี้กำลังเริ่มส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกมแบบดั้งเดิมหรือเกมที่เราเล่นกันเพื่อความสนุก เกม P2E ที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลนั้นทำงานอยู่บน Blockchain ซึ่งสิ่งที่ทำให้แตกต่างจากเกมทั่วไปก็คือผู้เล่นจะเล่นเพื่อหาเงินมากว่าการเอาแข่งขันการเอาชนะ (ถึงแม้ว่าการชนะจะได้รายได้ดีกว่าก็ตาม) สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องแบบนี้ เราอาจจะลองนึกดูว่าถ้าเกมเศรษฐีที่เราเคยเล่นกันนั้นใช้เงินจริงในการเล่นจะเป็นอย่างไร?

          ซึ่งเป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้วว่าการให้รางวัลแก่ผู้เล่นที่ใช้เวลาและความพยายามในการเล่นเกมนั้นเป็นอีกหนึ่งเบื้องหลังที่ทำให้เกม P2E ได้รับความนิยม ซึ่งถูกเรียกกันโดยทั่วไปว่า GameFi ซึ่งคงไม่มีใครไม่ชอบหากเราสามารถสนุกไปกับเกมแล้วก็ยังได้เงินอีกด้วย ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าจริง ๆ แล้ว GameFi คืออะไร แตกต่างจากการเล่นเกมรูปแบบปกติอย่างไรบ้าง รวมไปถึงอนาคตของ GameFi

GameFi คืออะไร

          GameFi เป็นหนึ่งในคำศัพท์ที่เป็นที่รู้จักกันดีในโลกของสกุลเงินดิจิทัลซึ่งเป็นคำที่เกิดมาจาก Game และ Finance มารวมกัน โดยอธิบายถึง Gamification หมายความว่าเป็นการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเราให้คล้ายกับลักษณะของเกมในระบบการเงินเพื่อสร้างผลกำไรจากการเล่นเกมแบบ P2E

          โครงการ GameFi ต่าง ๆ นั้นทำงานอยู่บน Blockchain ซึ่งช่วยให้ผู้เล่นนั้นสามารถเป็นเจ้าของไอเทมในเกมได้ ตรงกันข้ามกับเกมปกติที่ผู้เล่นจะเล่นเพื่อเอาชนะ โครงการ GameFi ใช้โมเดลการเล่นเกมแบบ P2E

          แนวคิดตัวอย่างแรกของ GameFi นั้นรวมไปถึงเซิร์ฟเวอร์ Minecraft ในช่วงแรก ๆ ที่ทำงานร่วมกับ Bitcoin, Gambit.com และเกมออนไลน์อย่าง Bombermine เช่นกัน รวมไปถึงบริการแบบ Peer-to-Peer (P2P) ที่เกมเมอร์สามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกม

          ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 งาน World Blockchain Conference ที่เมือง Wuzhen ประเทศจีน ผู้ก่อตั้ง MixMarvel ซึ่งเป็นสตูดิโอเกม Blockchain ได้เน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ของการใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมเกม

          อย่างไรก็ตามคำว่า GameFi ถูกใช้ในการอธิบายเทรนด์ใหม่นี้ครั้งแรกโดย Andre Cronje ผู้ก่อตั้ง Yearn.finance ใน Twitter เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คำคำนี้จึงถูกใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่ออธิบายถึงเกมที่มีองค์ประกอบของ Decentralized Finance (Defi) ที่ขับเคลื่อนโดย Blockchain โครงการเหล่านี้ได้ใช้ประโยชน์จากความนิยมของเกมรวมเข้ากับคุณสมบัติหลักของสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งทำให้ GameFi น่าสนใจมากขึ้น

โครงการ GameFi ทำงานอย่างไร

          โครงการ GameFi ต่าง ๆ มักจะมีสิ่งที่คล้าย ๆ กันเล็กน้อย อย่างไอเทมในเกม เช่น Avatar ที่ดิน อุปกรณ์สวมใส่ อาวุธ ทอง เหรียญ และสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะถูกนำเสนอในฐานะ Non-Fungible Token (NFT) ที่มีความสามารถในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ ผู้เล่นจะได้รับไอเทมเหล่านี้ผ่านการเล่นเกม และสามารถนำไปแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้ในตลาดแลกเปลี่ยน NFT เพื่อทำกำไร หรือแลกเป็นสกุลเงินดิจิทัลซึ่งสามารถนำมาแลกเป็นเงิน Fiat หรือเงินที่เราใช้กันอยู่จริง ๆ ได้

จุดเริ่มต้นของ GameFi

          GameFi ในยุคแรก ๆ นั้นใช้ Bitcoin Blockchain แต่ด้วยค่าดำเนินการในการทำธุรกรรมและความช้าของเครือข่ายนั้นทำให้ถูกเปลี่ยนไปใช้เป็น Ethereum Blockchain

          นักพัฒนาเกมสกุลเงินดิจิทัลนั้นใช้ Ethereum กันอย่างแพร่หลาย และตอนนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่ก็ยังมีปัญหาในด้านประสิทธิภาพเช่นกัน เนื่องจากมีพื้นที่ Block ที่จำกัด โดยเรื่องเหล่านี้ได้ถูกเน้นยำเมื่อ CryptoKitties ได้รับความนิยมจนกลายเป็นไวรัส ซึ่งทำให้เครือข่าย Ethereum เกิดความแออัดในปลายปี ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นเหตุให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมของ Ethereum สูงขึ้น

การขยายตัวของ GameFi

          จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่พุ่งสูงขึ้นจนเกินไปนั้น ทำให้เกมประสบปัญหาในการดึงดูดฐานผู้เล่นจำนวนมากเข้ามา ซึ่งเมื่อเจอกับปัญหาเหล่านี้ นักพัฒนาเกมสกุลเงินดิจิทัลบางรายได้ย้ายจากเครือข่าย Ethereum ไปยังเครือข่ายที่มีความรวดเร็วกว่าและสามารถรองรับปริมาณในการทำธุรกรรมได้มากกว่า อย่างเช่น Solana, Polkadot, Polygon, Wax และ BSC

          โครงการ GameFi หลาย ๆ โครงการเริ่มมีความคืบหน้า โดยผู้เล่นสามารถหารายได้เพิ่มจากการใช้เวลาในการปรับปรุงตัวละคร และสร้างรายได้จากที่ดินที่เป็นสินทรัพย์ของตัวเอง โดยการพัฒนาที่ดินนั้นแล้วเป็นให้ผู้เล่นคนอื่นเข้ามา หรือจัดทัวร์นาเมนต์การต่อสู้

          ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้บน Decentralized Public Blockchain ซึ่งเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของของไอเทมได้ ซึ่งหมายความว่าผู้เล่นที่ไม่ใช้นักพัฒนาเกมนั้นเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทั้งหมด

          ในฐานะผู้เล่น สินทรัพย์ในเกมใด ๆ ก็ตามที่เราได้รับก็จะเป็นของเราเสมอ แม้กระทั่งเซิร์ฟเวอร์โดนเผา หรือบริษัทระเบิดลงจนต้องปิดตัวไปนั้น สิ่งนั้นก็ยังคงอยู่และเป็นของเรา ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกมที่ขับเคลื่อนโดยสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้เป็นแหล่งหารายได้ที่แท้จริง ถึงแม้ว่าผู้เล่นบางคนหาความสนุกจากสิ่งนี้ แต่ก็มีผู้เล่นบางคนที่สามารถหารายได้จากเกมแบบเต็มเวลาได้

ข้อดีอื่น ๆ ของ GameFi

          GameFi ยังมีประโยชน์อื่น ๆ โดยแนวคิดของ DeFi เช่น Staking, Liquidity Mining และ Yield Farming ที่มีอยู่ในโครงการ GameFi นั้นให้ผลตอบแทนแก่ผู้เล่นแบบ Passive Income ได้ ผู้เล่นสามารถ Stake สินทรัพย์ของตัวเองในเกมเพื่อรับดอกเบี้ยรายปีหรือรางวัลอื่น ๆ ซึ่งผู้เล่นสามารถใช้เพื่อปลดล็อกระดับต่าง ๆ สำหรับการซื้อไอเทมในเกมเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นสามารถกู้ยืมเหรียญโดยการเอาสินทรัพย์ของตัวเองไปค้ำได้

          GameFi ต่างจากการพัฒนาเกมแบบเดิม ๆ โดยโครงการใน GameFi อาจจะให้ผู้เล่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจบางอย่างได้ เกมบางเกมให้ผู้เล่นตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับการอัปเดตของเกมในอนาคตโดยการให้อำนาจในการโหวตแก่สมาชิกของ GameFi Decentralized Autonomous Organization (DAO)

          DAO จะให้ผู้เล่นที่ถือเหรียญสามารถเสนอการอัปเดตของโครงการและทำการโหวตได้ ทำให้ GameFi จึงเป็นการที่ผู้เล่นสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง ข้อเสนอต่าง ๆ ที่เสนอมานั้นจะมีผลกระทบทางด้านการเงิน เช่น สมาชิกของ DAO โหวตเพิ่มรางวัลสำหรับการทำกิจกรรมบางอย่างในเกมโดยเฉพาะ

          เพื่อที่จะเป็นสมาชิกของ GameFi DAO ผู้เล่นจะต้องมี Governance Token ของโครงการ โดยปกติแล้วนั้นอำนาจในการโหวตที่ผู้เล่นมีจะขึ้นอยู่กับจำนวนเหรียญที่ผู้เล่นถืออยู่

เกมแบบ GameFi กับเกมออนไลน์แบบเดิม

          GameFi ก็เหมือนกับสิ่งอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นบน Blockchain ซึ่งได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมเกมออนไลน์แบบเดิม ๆ การนำ DeFi และ NFT รวมไปถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ของ Blockchain รวมเข้าด้วยกันนั้น GameFi กำลังเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของเกมออนไลน์แบบเดิม ๆ ที่เราเคยเล่นกัน

          โครงการ GameFi แต่ละโครงการมีรูปแบบการเล่นที่แตกต่างกัน แต่เกมที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลและ NFT ที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่นั้นมักจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างออกไปจากเกมออนไลน์ทั่ว ๆ ไป

GameFi

Designed by Freepik

โมเดล Play-to-Earn

          ลักษณะเฉพาะของโมเดลแบบ Play-to-Earn ของ GameFi นั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการเกมก็ได้ โดยเกมออนไลน์แบบดั้งเดิมนั้นหารายได้จากการขายไอเทมในเกม การโฆษณา การทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งในฐานะผู้เล่นนั้นเราจะต้องใช้เงินเพื่อซื้อไอเทมในเกมเพื่อทำให้เราชนะหรือได้เปรียบผู้เล่นคนอื่น ๆ ซึ่งเงินที่จ่ายออกไปนั้นก็จะส่งตรงไปยังผู้ให้บริการเกม

          นอกจากนี้ ผู้เล่นส่วนใหญ่ที่โตมากับเกมอย่าง Minecraft และ PlayerUnknown’s Battlegrounds นั้นอาจจะคุ้นเคยกับเงินในเกมที่แทบไม่มีมูลค่าเมื่ออยู่นอกเกม ผู้เล่นไม่ได้อะไรตอบแทนสำหรับเวลาและความพยายามที่ใช้ในการเล่นเกมออนไลน์นอกจากความบันเทิงเท่านั้น

กระบวนทัศน์ใหม่ของ GameFi

          นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นเกมแบบ P2E ซึ่งช่วยให้เกมเมอร์สามารถเพิ่มมูลค่าจากโลกแห่งความเป็นจริงลงในการซื้อขายในเกมได้ ไอเทมและสิ่งของต่าง ๆ ในเกมจะถูกเก็บไว้ใน Distributed Public Ledger หรือ Blockchain ที่ทำงานบนเครือข่ายการเข้ารหัส เทคโนโลยี Blockchain นั้นเป็นโอกาสให้เหรียญและไอเทมในเกมสามารถแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินดิจิทัลได้ และรวมไปถึงเงินในโลกแห่งความเป็นจริง

          เพื่อยกระดับของประสบการณ์ในการเล่นเกม เกมเมอร์ซื้อไอเทมต่าง ๆ เช่น เหรียญ อาวุธ ชีวิตสำรอง ปรับแต่งตัวละคร เสื้อผ้า Avatar เครื่องประดับ โดยตรงจากเกม การเล่นเกมแบบดั้งเดิมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการซื้อสินทรัพย์จากร้านค้าที่ผู้พัฒนาเกมเป็นเจ้าของ ทำให้แทนที่ผู้เล่นจะได้รับเงินกลายเป็นผู้พัฒนาเกมได้เงินมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นตัวจำกัดประสบการณ์การเล่นเกมออนไลน์ของผู้เล่น โดยเฉพาะผู้เล่นที่ไม่มีเงินสดมากพอที่จะทำมาใช้จ่ายในเกม ในทางกลับกัน การเล่นเกมที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลนั้นส่วนใหญ่มักจะซื้อขายสินทรัพย์กันระหว่างผู้เล่นด้วยกันเอง

          เกมออนไลน์โดยทั่วไปอนุญาตให้ผู้เล่นเป็นเจ้าของไอเทมดิจิทัล แต่สิ่งของเหล่านี้ไม่มีมูลค่าจริง ๆ เหมือนกับเกมที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลมี และไม่สามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ในเกมกับผู้เล่นคนอื่น ๆ แบบมีมูลค่าจริง ๆ ได้ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญของ GameFi กับเกมออนไลน์ทั่วไป สำหรับ GameFi ที่ผู้เล่นเป็นเจ้าของสินทรัพย์ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดเพื่อใช้ในการเล่นเกมเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้โดยมีวัตถุประสงค์อื่น ๆ ได้

ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีเพียงเล็กน้อย

          เกม GameFi ส่วนใหญ่ที่เปิดให้โหลดนั้นสามารถเล่นได้ฟรี ซึ่งทำให้เข้าถึงได้ง่ายกว่าเกมทั่ว ๆ ไป ถึงแม้ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายล่วงหน้า แต่บางเกมผู้เล่นอาจจะต้องซื้อเหรียญในเกม ตัวละคร หรือไอเทมอื่น ๆ ในการเริ่มต้นเล่นเกม

เป็นเจ้าของสินทรัพย์ในเกมอย่างแท้จริง

          ผู้เล่น GameFi มีสินทรัพย์และ NFT เก็บไว้ใน Blockchain อย่างถาวร ซึ่งสิ่งนี้จะตรงข้ามกับเกมแบบเดิม ๆ ซึ่งผู้ให้บริการสามารถปิดเกมได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้เล่นสูญเสียสิ่งที่ทำมาในเกมทั้งหมด สินทรัพย์ทั้งหมดนั้นเป็นของผู้พัฒนาเกม และผู้เล่นไม่สามารถควบคุมได้ว่าเกมจะอยู่ต่อได้นานเท่าไร หากผู้พัฒนาเกมต้องการยุติการให้บริการ ผู้เล่นก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย

          นอกจากนี้เกมออนไลน์แบบดั้งเดิมนั้นมีความปลอดภัยไม่เท่ากับสกุลเงินดิจิทัลที่อยู่บน Blockchain ซึ่งทำให้เกมเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกโจมตี ผู้เล่นอาจจะสูญเสียสินทรัพย์ทั้งหมดไปกับการถูกแฮกได้เช่นกัน

ระบบการเล่นที่ง่ายต่อการเรียนรู้

          โครงการ GameFi มีระบบการเล่นเกมที่เรียบง่าย ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและการเรียนรู้ ซึ่งวิธีการเล่นที่ง่ายนี้จะช่วยลดสิ่งกีดขวางในการเข้าเล่นเกมทำให้มีแรงดึงดูดเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าผู้เล่นจะอยู่ในวัยไหนหรือมีประสบการณ์การเล่นเกมขนาดไหนก็สามารถเข้ามาเล่นได้อย่างง่ายดาย

อนาคตของเกม GameFi

          ถึงแม้ว่าที่มาของ GameFi สามารถย้อนกลับไปได้ถึงการพัฒนาในยุคแรก ๆ ของสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งพึ่งเริ่มได้รับการยอมรับมาไม่นาน โดยตัวอย่างที่มักจะถูกยกมาอ้างอิงเพื่อแสดงให้เห็นการเติบโตของ GameFi ที่เป็นเทรนด์ใหม่นั้นก็คือเกม Axie Infinity ซึ่งเป็นโครงการ GameFi ที่ได้รับความนิยมเป็นโครงการแรกโดยมียอดขายเหรียญทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021 และมี Active Player มากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน

          เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างต่อเนื่องที่อยู่เบื้องหลังของเกมสกุลเงินดิจิทัลนั้นได้ก้าวไปสู่ในจุดที่โครงการ GameFi ใหม่ ๆ กำลังเริ่มดึงดูดฐานผู้เล่นเข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเงินทุนจากสถาบัน และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เชื่อว่าเกมสกุลเงินดิจิทัลเป็นประตูที่เปิดให้มีการนำ Blockchain ไปใช้กับสิ่งต่าง ๆ กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากโครงการ GameFi ได้รับความสนใจจากเกมเมอร์ทั่วไป

การพัฒนาเพิ่มเติม

          GameFi นั้นกำลังค่อย ๆ เข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดเกมซึ่งมีมูลค่ากว่า 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกมเมอร์ที่ชอบและคุ้นเคยกับเงินในเกม ไอเทมหายาก และอื่น ๆ ที่ไม่มีมูลค่าจริง ๆ นั้น ไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่า การเข้ามาของ GameFi จะได้รับความสนใจมากขึ้นในขณะที่มีองค์ประกอบดังที่กล่าวมาแต่ให้อำนาจในด้านการเงินแก่ผู้เล่น

          ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงที่น่าสนใจสำหรับ GameFi โดยมีบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในเกมที่สร้างบน Blockchain เช่น สตูดิโอเกม Ubisoft และ MOBOX รวมไปถึงผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ AMD

          Blockchain Game Alliance (BGA) เป็นองค์กรที่สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับ GameFi ซึ่งเป็นที่ต้อนรับแก่เหล่านักพัฒนาเกมและเกมเมอร์ โดย BGA ได้จัดหาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาเกม และกระดานสนทนาสำหรับนักพัฒนาและผู้เล่นในเครือข่าย เพื่อทำงานร่วมกันและแบ่งปันความรู้นอกเหนือไปจากการสร้างมาตรฐานทั่ว ๆ ไป

การเติบโตล่าสุดของ GameFi

          GameFi กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมูลค่าทางการตลาดรวมของเกม Blockchain ชั้นน้ำนั้นอยู่ที่ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ด้วยขนาดของอุตสาหกรรมเกมที่ใหญ่ ตลาดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงมีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้น

          ซึ่งเกมที่ประสบความสำเร็จในวงการ GameFi อย่าง Axie Infinity และ CropBytes อนาคตของ GameFi จึงค่อนข้างมีความสดใส โดยเกม GameFi อีกหลายเกมก็กำลังมีการพัฒนาอยู่ ซึ่งนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ด้วย ส่วนหนึ่งของโครงการเกมที่กำลังพัฒนาอยู่ ได้แก่

  • Star Atlas
  • Ember Sword
  • Guild of Guardians
  • The Sandbox
  • Dr. Who: Worlds Apart

        เกมที่กล่าวมานี้จะช่วยปลดล็อกโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการเล่นเกมมากขึ้น รวมไปถึงประสบการณ์ในการเล่นเกมที่แปลกใหม่ซึ่งมีคุณลักเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร

          และยังมีแพลตฟอร์มเกมอย่าง MOBOX ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถสร้าง NFT และสามารถนำไปใช้ร่วมกับเกมอื่น ๆ ได้ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวมีคุณสมบัติของ DeFi ให้ใช้งาน เช่น Stake และ Liquidity Pool ทำให้เกมเมอร์สามารถสร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่ตัวเองถือครองอยู่ได้ โดยรายได้นี้สามารถนำไปซื้อไอเทมหรืออัปเกรตไอเทมในเกมเพื่อปลดล็อก NFT ใหม่ ๆ หรือเพื่อให้มีรายได้มากขึ้นได้

สถิติ

          ข้อมูลจากเว็บไซต์ DappRadar ได้ระบุว่าในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2021 เกมที่อยู่บน Blockchain นั้นมี 207 เกม และในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2021 มีกว่า 590 เกม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของ GameFi

เขียนโดย Akiraz

KAIO

อ้างอิงจาก Bybit Learn (2021) What Is GameFi: Gamifying Your Crypto Earning Experience, Available at: https://learn.bybit.com/crypto/what-is-gamefi/ (Accessed: 30th January 2022).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *