Internet of Things คืออะไรเรามาดูกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ

Internet of Things

          สวัสดีอีกครั้งครับ ในบทความนี้ผมจะกล่าวถึง Internet of Things (IoT) ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงคุ้นหูกับคำนี้ เพราะเจ้าสิ่งนี้นั้นมีอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวันแล้ว ถ้าให้พูดง่าย ๆ ว่า สิ่งใดก็ตามที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ก็อยู่ในหมวดนี้ทั้งสิ้น ซึ่งบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับมันให้มากยิ่งขึ้นกันครับ

Internet of Things คืออะไร?

          Internet of Things (IoT) ในชื่อภาษาไทยก็คือ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรืออินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง หมายถึง อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต เพื่อรวบรวมและแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน

ในปัจจุบัน จากการที่ชิปของคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีราคาไม่แพง และยังมีเครือข่ายไร้สายที่แพร่หลาย ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีขนาดเล็ก ๆ จนไปถึงมีขนาดใหญ่เท่ากับเครื่องบิน ให้เป็นส่วนหนึ่งของ IoT ได้

การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน และเพิ่มเซนเซอร์ต่าง ๆ เข้าไป ทำให้สามารถเพิ่มระดับความฉลาดของอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ซึ่งช่วยให้สามารถสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ Real-Time ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์ IoT ได้ทำให้โครงสร้างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกของเราฉลาดขึ้น และตอบสนองได้ดีขึ้น

ข้อดีของ Internet of Things

          ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานและลดการใช้แรงงานของมนุษย์ ด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมของ IoT ทำให้งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ ทำให้งานสามารถทำได้โดยอัตโนมัติทรัพยากรมนุษย์จึงถูกโอนย้ายไปทำงานที่มีความซับซ้อนมาก ที่ต้องใช้ทักษะส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดสร้างสรรค์ จากที่กล่าวมาทำให้สามารถลดจำนวนพนักงานลงได้ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานในธุรกิจลดลง

การบริหารและดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ IoT ได้ให้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อโครงข่ายของอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยสามารถทำงานอัตโนมัติได้หลายงานและพร้อมกันได้ รวมไปถึงการจัดการสินค้าคงคลัง การติดตามการขนส่ง การจัดการเชื้อเพลิงและชิ้นส่วนของอะไหล่ เช่น การใช้ RFID Tag และเซนเซอร์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อติดตามตำแหน่งของอุปกรณ์และสินค้า

          การบริการการใช้ทรัพยากรและทรัพย์สินดีขึ้น IoT มีความสามารถในการตั้งเวลา และการตรวจสอบแบบอัตโนมัติโดยใช้เซนเซอร์ที่เชื่อมต่อถึงกัน ทำให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้า และการใช้น้ำตัวอย่าง คือ เครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบง่าย ๆ ก็สามารถช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติอีกด้วย

          การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล การควบคุมดูแลการซ่อมบำรุงรักษาต่าง ๆ ได้ถูกตั้งเวลาไว้ให้ทำงานอัตโนมัติ ทำให้ระยะเวลาในการหยุดทำงานลดลง ส่งผลให้การจัดหาวัตถุดิบ และการผลิต ทำให้อุปกรณ์มีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถทำกำไรได้มากขึ้น จากที่กล่าวมา อุปกรณ์ IoT ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการบริการแผนกต่าง ๆ ภายในองค์กร

          เพิ่มความปลอดภัยให้กับการทำงาน การบำรุงรักษาตามกำหนดการยังเป็นประโยชน์สำหรับการรับรองความปลอดภัยในระหว่างการปฏิบัติงาน ซึ่งสถานที่ที่ทำงานมีความปลอดภัยยังช่วยให้ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน คู่ค้า และลูกค้า ในการลงทุนองค์กร และส่งผลให้ชื่อเสียงขององค์กรเพิ่มมากขึ้น อุปกรณ์อัจฉริยะยังช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ในระหว่างขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ของงาน ทำให้ความปลอดภัยได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย และยังสามารถใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ได้ เช่น กล้องวงจรปิด เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว และอุปกรณ์ตรวจสอบอื่น ๆ เพื่อรับรองความปลอดภัยขององค์กร และป้องกันการโจรกรรม

          การตลาดและการพัฒนาธุรกิจ IoT ช่วยให้องค์กรสามารถรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้ได้ในปริมาณมาก ซึ่งสามารถนำไปใช้วิเคราะห์และประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เช่น อุปกรณ์อัจฉริยะที่มีอยู่ภายในบ้าน โดยเฉพาะ Voice Assistant สามารถใช้สื่อสารกับผู้ใช้ปลายทางได้โดยตรง ซึ่งข้อมูลที่รับมาจากอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้ สามารถใช้พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ การโฆษณาที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย การปรับราคาสินค้า และกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดการอื่น ๆ

          ปรับปรุงการบริการลูกค้าและการดูแลรักษา IoT ยังได้ช่วยปรับปรุงการบริการลูกค้า โดยการอำนวยความสะดวกให้ในเรื่องการติดตามหลังการขายเช่น การติดตามสินค้าแบบอัตโนมัติ และการแจ้งเตือนลูกค้าเกี่ยวกับการบำรุงรักษาของสินค้าหรืออุปกรณ์ที่ซื้อไปหลังจากผ่านระยะเวลาการใช้งานที่ได้กำหนดไว้ การสิ้นสุดระยะเวลาการรับประกัน เป็นต้น

          เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจาก IoT ได้ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น บริษัทสามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายได้มากยิ่งขึ้น หรือจะเพิ่มคุณภาพของสินค้าที่มีราคาเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับกับคู่แข่ง หรืออาจจะปรับปรุงขั้นตอนการผลิต ซึ่งการใช้ IoT เข้ามาช่วยในองค์กรสามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่น ๆ ได้ และเพิ่มความดึงดูดให้กับพันธมิตรในธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต

          บริษัทมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือมากขึ้น บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีที่มีความไฮเทค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ IoT โดยปกติแล้วจะสร้างความประทับใจที่ดีให้กับลูกค้า นักลงทุน และพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ตระหนักถึงข้อดีของ IoT ซึ่งยังสามารถดึงดูดพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ที่มีความต้องการสูงในตลาดได้ง่ายกว่า

ข้อเสียของ Internet of Things

          ข้อบกพร่องในด้านความปลอดภัย ถ้าเกิดหน่วยงานหรือองค์กรมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาหรือใช้ IoT ในเรื่องของความกังวลที่ข้อมูลขององค์กรจะรั่วไหล เนื่องจากอุปกรณ์อัจฉริยะจะรวบรวมและส่งข้อมูลที่เป็นความลับต่อองค์กร ซึ่งอาจนำไปสู่ผลร้ายแรงหากมีการเปิดเผย ถึงอย่างนั้น IoT ก็ไม่ค่อยมีวิธีในการป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลตามมาตรฐานการป้องกันข้อมูล ถึงแม้ว่าจะมีโปรโตคอลการเข้ารหัส และข้อบังคับหรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน โดยไม่ได้รับอนุญาต

          หากข้อมูลไม่ได้รับการป้องกันที่เพียงพอ อาจจะนำไปสู่หายนะได้ เช่น การโจรกรรมข้อมูลของบุคคลภายในองค์กร การสูญเสียข้อมูลที่เป็นความลับเฉพาะภายในองค์กร จึงเป็นเหตุผลที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาการป้องกันของ IoT เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบต่าง ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ที่ถูกติดตั้งไว้จะไม่มีจุดอ่อน และได้รับการป้องกันที่เพียงพอต่อการถูก Hack

          ค่าใช้จ่าย การนำ IoT ไปใช้ในองค์กร หมายถึง การสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีความหลากหลาย และกว้างขวาง ซึ่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะที่มีจำนวนมาก รวมไปถึงเรื่องของแหล่งจ่ายไฟและเครือข่ายการสื่อสาร ซึ่งทำให้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการติดตั้ง บำรุงดูแลรักษา และรวมไปถึงความต้องการที่จะขยายเครือข่ายในอนาคต ถึงแม้ว่า IoT จะมีประโยชน์ในหลาย ๆ อย่าง แต่เพราะต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเป็นจำนวนเยอะ ทำให้ใช้เวลานานกว่าที่จะทำกำไรได้

          การพึ่งพาแหล่งจ่ายไฟ แม้ว่า IoT จะมีอุปกรณ์หลากหลายเครื่องที่มีลักษณะการทำงานแบบอัตโนมัติ แต่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก เช่นอุปกรณ์อัจฉริยะต้องอาศัยการจ่ายไฟที่มีความเสถียรและเพียงพอ ทำให้ต้องเตรียมและวางแผนระบบไฟฟ้าให้ดี เช่นการมีอุปกรณ์สำรองไฟ เครื่องป้องกันไฟกระชาก หรืออาจจะเป็นอุปกรณ์ที่กันน้ำได้

          การพึ่งพาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยปกติ IoT คือการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ และสามารถเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ทั่วโลก ทำให้อุปกรณ์ IoT ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ที่รับรองการสื่อสารทั้งแบบมีสายและไร้สายที่มีความต่อเนื่องสูง มีปริมาณที่รองรับสูง และ Latency น้อย รวมไปถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้องค์กรธุรกิจควรมีอุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่จำเป็น

          มีความต้องการทักษะที่สูง การนำ IoT มาใช้จะต้องมีผู้ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ ที่เข้าใจเนื้องานของตนเองที่รับผิดชอบอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่า การบำรุงดูแลรักษา การขยายเครือข่าย IoT ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้อาจจะหาได้ยาก ถึงแม้ว่า IoT จะลดความต้องการในด้านทรัพยากรทางมนุษย์ลง แต่พนักงานทำงานอยู่ต้องได้รับการฝึกอบรมที่เพียงพอ เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานของอุปกรณ์อัจฉริยะ

เขียนโดย Akiraz

KAI

อ้างอิงจาก Steve Ranger (2020) What is the IoT? Everything you need to know about the Internet of Things right now, Available at: https://www.zdnet.com/article/what-is-the-internet-of-things-everything-you-need-to-know-about-the-iot-right-now/ (Accessed: 25th August 2021).

อ้างอิงจาก Alexander Roznovsky (2020) 9 PROMINENT BENEFITS OF IOT FOR BUSINESS, Available at: https://light-it.net/blog/9-prominent-benefits-of-iot-for-business/ (Accessed: 25th August 2021).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *