มาดูกันว่า Augmented Reality คืออะไร? ทำงานอย่างไร? แบบเข้าใจง่าย ๆ

Augmented Reality

          สวัสดีครับ ผมเชื่อว่าใครหลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำว่า Augmented Reality หรือ AR กัน หรือบางคนอาจจะเคยสัมผัสกับมันมาแล้วไม่มากก็น้อย แต่เราได้เข้าใจมันจริง ๆ รึเปล่าว่ามันคืออะไร ซึ่งในบทความนี้ ผมจะพาไปดูความหมายของ AR รวมไปถึงประโยชน์และตัวอย่างการนำ AR ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบัน

Augmented Reality คืออะไร?

          Augmented Reality (AR) คือ การนำเทคโนโลยีที่ใช้องค์ประกอบของภาพดิจิทัล เสียง หรือสิ่งกระตุ้นทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ ผสานเข้ากับโลกของความจริง โดยหลักการทำงานของ AR คือการฉายภาพ 3 มิติ ของวัตถุนั้น ๆ บนโลกแห่งความจริง

ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ เลย เกม Pokémon GO เป็นการนำตัวโปเกมอนผสานเข้ากับโลกแห่งความจริงผ่านทางกล้องหลังของโทรศัพท์ เสมือนมีตัวโปเกมอนอยู่ในโลกจริง ๆ ของเรา

ประโยชน์ของ Augmented Reality

  • AR ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วม การโต้ตอบ และมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้
  • การวิจัยพบว่า AR ช่วยเพิ่มมูลค่า และเพิ่มการรับรู้ของผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์
  • การใช้ AR ในการทำกิจกรรมจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ในดูมีความทันสมัย
  • AR สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะโดยส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้อยู่บนโทรศัพท์
  • AR เป็นสื่อที่มีราคาไม่แพง ถ้าเทียบกับแพลตฟอร์มการสื่อสารอื่น ๆ
  • แบรนด์ต่าง ๆ สามารถเข้าถึงการวิเคราะห์โดยละเอียดได้ ทำให้สามารถเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น

ตัวอย่างการใช้งาน AR ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

          ด้านการศึกษา AR ได้ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นผ่านการจำลองภาพ ทำให้ผู้เรียนมีความตื่นตาตื่นใจ และช่วยให้ผู้เรียนสนใจเนื้อหาที่เรียนมากขึ้น แทนที่จะอ่านหนังสือหรือเอกสารเกี่ยวกับทฤษฎี ผู้เรียนสามารถเห็นภาพของเนื้อหาที่เรียนได้อย่างชัดเจน และมีส่วนร่วมกับเนื้อหาของการเรียนได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้การเรียนไม่น่าเบื่อ แถมยังเข้าถึงได้ง่ายอีกด้วย

          ด้านการแพทย์ การใช้ AR ทางด้านการแพทย์ ยังได้ช่วยเหลือให้การทำงานของแพทย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ศัลยแพทย์ที่ใช้ชุดหูฟัง AR ของ Microsoft HoloLens ช่วยให้สามารถดูข้อมูลสำคัญของผู้ป่วยและภาพดิจิทัลได้ (เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับหลอดเลือดโป่งพองของผู้ป่วย) ที่ซ้อนทับผ่านมุมมองโดยปกติ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถจดจ่อกับงานหัตถการได้โดยไม่ต้องละสายตาจากจอภาพเพื่อดูข้อมูลของผู้ป่วยเพิ่มเติม

          ด้านการขาย การใช้ AR ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถทราบขนาดและรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์จริง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงลักษณะและการทำงานของผลิตภัณฑ์ เช่น Dulux Visualiser ผู้บริโภคสามารถทดลองการตกแต่งห้องโดยเลือกเฉดสีต่าง ๆ ได้ โดยการใช้กล้องโทรศัพท์ สแกนไปที่ห้องแล้วเลือกสี

          ด้านการฝึกอบรมวิชาชีพ AR สามารถจำลองสภาพการทำงานต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานคุ้นเคย และเชี่ยวชาญงานของตนเองได้ รวมไปถึงการให้ ครู ทหาร แพทย์ และตำรวจ ได้ฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ ก่อนที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์จริง

          ด้านการซ่อมรถยนต์ การใช้ AR ผ่านทางโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต จะช่วยให้ช่างซ่อมรถยนต์ได้เห็นข้อมูลภาพฉายของรถยนต์ผ่านอุปกรณ์ของตัวเองได้ ทำให้สามารถระบุปัญหาได้เร็วขึ้น และสามารถแบ่งขั้นตอนการซ่อมออกเป็นขั้นตอนง่าย ๆ ได้

เขียนโดย Akiraz

KAI

อ้างอิงจาก ADAM HAYES (2020) Augmented Reality, Available at: https://www.investopedia.com/terms/a/augmented-reality.asp (Accessed: 2nd September 2021).

อ้างอิงจาก Sujeeth Kanuganti (2019) Augmented Reality Benefits Us All, Available at: https://www.forbes.com/sites/forbestechcouncil/2019/08/16/augmented-reality-benefits-us-all/?sh=e7a28ba36431 (Accessed: 2nd September 2021).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *