ทำไมต้องรับ นักท่องเที่ยวจีนโดย “ไม่กักตัว”


อ้างอิงภาพจาก่ https://pixabay.com/th/illustrations/covid–อายุ-19-ไวรัส-coronavirus-4960254/

แม้ไทยจะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 แต่ความสำเร็จนี้ก็แลก มาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมหาศาล ผลกระทบร้ายแรงที่สุดคือ คนจำนวนหลายล้านคนตกงาน ธุรกิจนับแสนแห่งคงต้องปิดกิจการในไม่ช้า

ข้อเสนอต่อการเปิดเมือง

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในหมู่คนไทย แต่จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฉะนั้นรัฐควรดำเนินนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะจีน ซึ่งสามารถควบคุมการระบาดได้ดีที่สุด

อีกมุมหนึ่งการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน น่าจะมีจำนวนมากพอที่จะช่วยธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องได้จำนวนมาก และอาจช่วยได้มากกว่านโยบายไทยเที่ยวไทย แต่ไม่ต้องใช้เงินภาษีมาจ้างให้คนเที่ยว เมื่อธุรกิจมีลูกค้า รัฐบาลก็ไม่ต้อง เสียเงินกับมาตรการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้าง หนี้ หรือแม้กระทั่งมาตรการช่วยเพิ่มทุนให้ธุรกิจ ยิ่งกว่านั้นผลสำคัญคือเกิดการจ้างงานจำนวนนับล้านคนในภาคท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแรงงาน ที่มีการศึกษาไม่สูงซึ่งมีปัญหาการปรับตัวมากที่สุด ฉะนั้นในด้านเศรษฐกิจ นโยบายนี้จึงเป็น นโยบายแบบ “ได้กับได้” (win-win)

อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม กับผลกระทบด้านสาธารณสุข และควรใช้มาตรการอย่างน้อย 4 ข้อ

1.การตรวจเชื้อคัดกรองนักท่องเที่ยวทั้งก่อนเข้าและเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย พร้อมทั้งตรวจซ้ำหลังเข้ามาอยู่เกิน 5-6 วัน  โดยเสนอให้กักตัวระยะสั้นระหว่างรอผลตรวจเท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลกับภาคประชาสังคม ต้องตกลงกันคือระดับความเสี่ยงที่สังคมยอมรับได้แต่คงไม่ใช่ศูนย์ และค่าใช้จ่ายในการตรวจรวมทั้งค่ารักษาพยาบาลต้องเป็นของนักท่องเที่ยว

2.การลงทุนในเทคโนโลยีและระบบติดตามนักท่องเที่ยว ที่สามารถติดตามผู้ที่ติดต่อหรือสัมผัสกับนักท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุม หากพบว่ามีการระบาดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

3.การลงทุนในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะจำนวนเตียงคนป่วย ห้องไอซียู โรงพยาบาล ศูนย์บริการตรวจวัดเชื้อ โควิด-19 ฯลฯ เพื่อให้มีอุปกรณ์และเครื่องมือเพียงพอพร้อมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ โดยอาศัยงบประมาณจากวงเงินกู้ที่รัฐจัดสรรให้ 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมาฝ่ายสาธารณสุขใช้ไปเพียง 1.6 พันล้านบาท  ถือว่าเป็นการใช้งบประมาณที่น้อยแต่มีประสิทธิผลสูง

4.การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องความจำเป็นที่ต้องเปิดเมือง พร้อมกับแนวทางป้องกันความเสี่ยงการแพร่ระบาด ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ รวมถึงการขอความร่วมมือด้านต่างๆ จากประชาชน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี รัฐควรศึกษาความคุ้มค่าและประเมินความเสี่ยงของการเปิดเมืองและมาตรการข้างต้น โดยทีมศึกษาควรประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา เช่น นักระบาดวิทยา แพทย์ พยาบาล นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจท่องเที่ยว และบริการทั้งเล็ก/ใหญ่ ตลอดจนแรงงานในภาคบริการ

นอกจากข้อเสนอการเปิดเมืองเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและการจ้างงานแล้ว ยังมี ข้อเสนอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยแรงงานจำนวนหลายล้านคนและธุรกิจทั้งเล็กใหญ่นับแสนกิจการ ติดตามได้ ในฉบับถัดไป

อ้างอิงบทความจาก ดร.นิพนธ์ พัวพงศกรและอุไรรัตน์ จันทรศิริ (2020) ทำไมต้องรับ นักท่องเที่ยวจีนโดย’ไม่กักตัว’, Available at: https://tdri.or.th/2020/10/resumption-of-chinese-tourists-opinion/ (Accessed: 29 December 2020).

สรุปบทความโดย ภูมิ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *