ทำความรู้จักกับประเภทไฟล์ของรูปภาพที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน แบบเข้าใจง่าย ๆ

          สวัสดีครับ บทความนี้ ผมจะมาพูดถึงเกี่ยวกับประเภทของไฟล์ภาพที่ใช้กันแพร่หลาย ซึ่งรูปภาพแต่ละรูปที่เราเห็น ๆ กันอยู่ก็จะมีหลายนามสกุล และแต่ละนามสกุลก็มีจุดประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกันไป เราจะมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง

          Graphics Interchange Format หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า GIF ได้ถูกเปิดตัวขึ้นในปี ค.ศ. 1987 โดย Compuserve ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การทำให้ภาพสีเป็นที่นิยมแพร่หลายในโลกออนไลน์ โดยในช่วงนั้น ภาพขาวดำยังเป็นที่นิยมอยู่ซึ่งจะแตกต่างจากในปัจจุบันที่ภาพสีได้รับความนิยม รูปภาพนามสกุล GIF ยังสามารถเก็บรวมรูปภาพหลาย ๆ รูปไว้ในรูปภาพเดียวได้ ซึ่งการทำแบบนี้ จะสามารถทำให้รูปภาพมีความเป็นแอนิเมชัน หรือเป็นภาพเคลื่อนไหวคล้ายวิดีโอ เพียงแต่มีรายละเอียดคุณภาพที่ต่ำกว่าและไม่มีเสียงเหมือนวิดีโอ

          GIF ยังเป็นรูปแบบที่มีการประหยัดพื้นที่ในการเก็บ เพราะรูป GIF ใช้สีสูงสุด 256 สี จาก 16.7 ล้านสีใน RGB และตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 GIF ยังรองรับภาพโปร่งใส ซึ่งสามารถนำไปใช้กับพื้นหลังอื่น ๆ ได้

          Joint Photographic Experts Group หรือ JPEG (อีกชื่อก็คือ JPG ใน Windows รุ่นเก่า) ได้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1992 โดย Joint Photographic Experts Group  ซึ่งได้สร้างมาตรฐานการเก็บรูปภาพดิจิทัล ที่มีทำให้ขนาดของไฟล์รูปภาพมีขนาดเล็กลง แต่ยังคงความคมชัดของสีต่าง ๆ ไว้

          โดยจะมีหลักการก็คือไม่บันทึกสีลงในพิกเซลทุกพิกเซล แต่จะบันทึกเป็นบล็อกแทนในขนาด 8*8 เรียกง่าย ๆ ว่ามีการบีบอัดภาพให้มีขนาดเล็กลง โดนจะมีการเฉลี่ยสีในแต่ละพิกเซลให้ใกล้เคียงกัน ไม่เหมาะกับภาพที่มีค่าความต่างของสีมากเกินไป เช่นตัวอักษรสีดำในพื้นหลังสีขาว

          Portable Network Graphics หรือ PNG ได้เปิดตัวในปี ค.ศ.1995 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะมาแทนที่ GIF แต่กลายเป็นว่าได้มาแทนที่รูปแบบนามสกุล BMP แทน ในเรื่องที่ไม่มีการบีบอัดรูปภาพ

          PNG ได้ทำมาเพื่อการบีบอัดรูปภาพแบบไม่สูญเสียข้อมูล ทำให้มีคุณภาพความคมชัดสูงกว่าแบบ JPEG แต่ก็แลกกับขนาดของไฟล์ที่ใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด และข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง 2 ตัวนี้ก็คือ PNG รองรับภาพแบบโปร่งใสแต่ JPEG ไม่รองรับ

          WebP เปิดตัวโดย Google ในปี ค.ศ.2010 โดยที่มีเป้าหมายมาแทนที่ GIF, JPEG และ PNG ในรูปแบบการบีบอัดข้อมูลทั้งแบบสูญเสียและไม่สูญเสีย ภาพเคลื่อนไหว และภาพแบบโปร่งใส เรียกได้ว่าหยิบข้อดีของทั้งสามตัวมา รวมไว้อยู่ใน WebP

          ถ้าหากพูดถึงการบีบอัดข้อมูลของรูปภาพโดยไม่สูญเสียข้อมูลระหว่าง WebP กับ PNG ตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า WebP นั้นดีกว่า PNG แต่ถ้าในพูดถึงในเรื่องของภาพเคลื่อนไหวแล้ว รูปแบบ APNG ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพมากกว่า WebP แต่ว่าการบีบอัดแบบสูญเสียของ WebP ก็ถือว่าทำได้ดีเช่นกัน จนแทบจะแยกไม่ออกจากรูปภาพต้นฉบับกันเลยทีเดียว

          AVIF ถูกสร้างโดยAlliance for Open Media ในปี ค.ศ.2019 หลังจากที่ AV1 ได้กำเนิดขึ้น หากให้สรุปง่าย ๆ AVIF ได้รองรับลักษณะเฉพาะหลาย ๆ อย่างเพิ่มเติมจากที่ WebP มี เช่น HDR และมีช่วงสีที่กว้าง เนื่องจากยังเป็นรูปแบบที่ใหม่ ทำให้ในปัจจุบันยังมีการใช้งานที่ยังไม่แพร่หลาย แต่ว่า ก็ได้มีบริษัทใหญ่ ๆ ที่เริ่มใช้แล้วเช่นกัน เช่น YouTube และ Netflix

          Scalable Vector Graphics หรือ SVG ถูกสร้างขึ้นโดย World Wide Web Consortium (W3C) และปล่อยออกมาในปี ค.ศ.2001 SVG จะแตกต่างจากรูปภาพนามสกุลประเภทอื่น ก็คือจะคำนึงถึงรูปทรงแทนที่จะเป็นแบบพิกเซลโดยปกติ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกราฟิกแบบ Vector ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ไม่ว่าจะซูมรูปภาพขนาดไหน ความคมชัดก็ยังคงเหมือนเดิม แตกต่างจากแบบพิกเซล ถึงแม้ว่าภาพนั้นจะมีรายละเอียดความคมชัดมากเท่าไร เมื่อซูมไปถึงจุดจุดหนึ่งก็ยังเห็นความเบลออยู่ แต่ก็แรกมาด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้น

เขียนโดย Akiraz

KAI

อ้างอิงจาก Amir Shoam (2021) Why Do Image Files Need Different Formats?, Available at: https://www.techspot.com/article/2299-image-file-formats/ (Accessed: 13th August 2021).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *