มาดูกันว่า Edge Computing คืออะไร? ทำงานอย่างไร? แบบเข้าใจง่าย ๆ

Edge Computing

          สวัสดีครับ ในบทความนี้ ผมจะมาพูดถึงเรื่อง Edge Computing ซึ่งโดยปกติแล้วคำคำนี้ผมคิดว่าเราอาจจะไม่คุ้นเคยกัน แต่จริง ๆ แล้ว มันก็คือ รูปแบบหนึ่งของ Cloud Computing นั่นเอง บางท่านก็อาจจะรู้จัก หรือสำหรับบางท่านอาจจะเป็นคำที่ใหม่ ไม่เป็นไรครับ เรามาดูพร้อมกันในบทความนี้กัน

Edge Computing คืออะไร?

Edge Computing เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการประมวลผลแบบกระจาย โดยการประมวลผลข้อมูลที่อยู่ใกล้กับขอบ ซึ่งความหมายของคำว่าขอบในที่นี้ก็คือ ใกล้ ๆ กับแหล่งข้อมูล บางท่านอาจจะบอกว่า ยิ่งอธิบายแบบนี้ยิ่งงงเข้าไปอีก ของ่ายกว่านี้อีกหน่อย ถ้าอย่างนั้นผมขอย้อนไปพูดถึงเรื่อง Cloud Computing สักหน่อยครับ จากที่กล่าวไปตั้งแต่แรก Edge Computing คือ ส่วนหนึ่งของ Cloud Computing ซึ่งการประมวลผลแบบ Cloud Computing นั้น จะเอาข้อมูลที่ได้รับมาทุกอย่างประมวลผลอยู่ในที่ที่หนึ่ง ซึ่งในที่นี้ก็คือ Cloud หากให้ยกตัวอย่างแบบเจาะจง ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเก็บไว้ใน Data Center และหากต้องการประมวลผลข้อมูลอะไรก็ตามสักอย่าง Data Center นั้นก็จะส่งข้อมูลไปยัง Cloud

แต่ถ้าเป็น Edge Computing ล่ะ? Edge Computing จะประมวลผลอยู่ใกล้กับแหล่งข้อมูล ซึ่งพูดง่าย ๆ ว่ามันประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ตรงขอบของโครงข่าย (แหล่งข้อมูล เอาแบบง่าย ๆ ถ้านึกไม่ออกก็ IoT นั่นล่ะ) แทนที่จะประมวลผลอยู่ในจุดศูนย์กลางของโครงข่ายเหมือน Cloud Computing ซึ่งพอเป็นการประมวลผลใกล้ ๆ กับแหล่งข้อมูล ก็จะช่วยลดระยะเวลาในการส่งข้อมูลไปได้ แทนที่จะส่งข้อมูลทั้งก้อนไปประมวลผลบน Cloud ที่อยู่ไกลลิบให้เสียเวลา ก็ส่งข้อมูลมาประมวลผลแบบ Edge ที่อยู่ใกล้ ๆ กับเราก่อน แล้วค่อยส่งข้อมูลที่ถูกประมวลผลเสร็จแล้วไปยัง Cloud ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับ Cloud อีกด้วย

ประโยชน์ของ Edge Computing

  1. ความเร็ว เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่า Edge Computing มีประโยชน์ที่ความเร็วในการรับส่งข้อมูล เพราะข้อมูลจะถูกประมวลผลก่อนแล้วค่อยส่งไปยัง Cloud แทนที่จะต้องเสียเวลาส่งข้อมูลไปประมวลผลบน Cloud ในทุก ๆ ครั้งยิ่งในธุรกิจที่ทุกเสี้ยววินาทีมีค่าแล้ว ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ Edge Computing (เช่นในอุตสาหกรรมการซื้อ-ขาย หรืออุตสาหกรรมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่ทุกเสี้ยววินาที เกี่ยวข้องกับชีวิตและความตาย)
  2. ความปลอดภัย การมี Edge Computing จำนวนหลาย ๆ อัน จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับการถูกโจมตีเพิ่มมากขึ้น เช่นมี Edge Computing10 จุด ก็ต้องโจมตีทั้ง 10 จุดจึงจะได้ผลดี ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นข้อดีก็ได้ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับ Cloud Computing ที่มีลักษณะการประมวลผลแบบรวมศูนย์แล้ว มีโอกาสที่จะถูก DDoS และรวมไปถึงเรื่องของไฟดับอีกด้วย ซึ่งแบบ Edge Computing จะกระจายการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล และมีอุปกรณ์ที่หลากหลายชนิด ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักลง
  3. ความสามารถในการรองรับการขยายตัว หากมองในมุมมองของบริษัท ถ้าบริษัทมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แล้วบริษัทไม่สามารถคาดการณ์ความต้องการของโครงสร้างพื้นฐานในด้านของไอทีได้ การสร้าง Data Center เป็นการเฉพาะจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งทำให้ยากต่อการวางแผนต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในด้านการดูแลบำรุงรักษา แต่ถ้าเป็นEdge Computing หากต้องการที่จะขยายระบบหรือโครงสร้างทางด้านไอที จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก เพราะสามารถสร้างทีละส่วน ตามความต้องการได้
  4. ความน่าเชื่อถือ หากเรามี Edge Computing จำนวนมากเชื่อมต่อกันในเครือข่าย จะเป็นเรื่องยากมากขึ้นที่ข้อมูลต่าง ๆ จะสูญหาย เพราะข้อมูลต่าง ๆ สามารถรับส่งได้หลายทิศทาง หากทางนี้ไม่สามารถส่งได้ ก็จะไปส่งอีกทาง ซึ่งถ้าเทียบกับแบบ Cloud Computing แล้ว ลองนึกถึงระหว่างที่เราส่งข้อมูลไปยัง Cloud แล้วคอมพิวเตอร์เกิดไฟดับหรือเน็ตหลุด เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าข้อมูลที่เราส่งไปจะไม่สูญหาย

เขียนโดย Akiraz

KAI

อ้างอิงจาก Justin Day (2020) Why Covid-19 has accelerated the need for Edge Computing, Available at: https://www.itproportal.com/features/why-covid-19-has-accelerated-the-need-for-edge-computing/ (Accessed: 21th August 2021).

อ้างอิงจาก Kaylie Gyarmathy (2021) The Benefits, Potential, and Future of Edge Computing, Available at: https://www.vxchnge.com/blog/the-5-best-benefits-of-edge-computing (Accessed: 21th August 2021).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *