มาดูวิธีการเลือกเก้าอี้การยศาสตร์สำหรับการทำงานกันว่าควรเลือกอย่างไรบ้าง?

         

สวัสดีครับ ไม่ว่าการทำงานจะทำงานในออฟฟิศหรือที่บ้านก็ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งบนเก้าอี้ซึ่งเป็นการทำให้โครงสร้างต่าง ๆ ในกระดูกสันหลังเกิดอาการล้า ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงก่อนที่จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ลามมาทีหลัง ทำให้เราจะเป็นต้องมีเก้าอี้ดี ๆ สักตัวมาใช้และเก้าอี้ตัวนั้นก็ควรจะออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ซึ่งรองรับหลังส่วนล่างและช่วยส่งเสริมให้ท่านั่งของเราถูกต้องด้วยซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยบทความนี้เราจะมาพูดถึงเก้าอี้การยศาสตร์ หรือที่ใครหลาย ๆ คนชอบเรียกว่าเก้าอี้เพื่อสุขภาพว่าควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

เก้าอี้การยศาสตร์แบบไหนที่เหมาะกับการทำงาน

          ในปัจจุบันมีเก้าอี้หลายประเภทที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับสรีระสำหรับการใช้นั่งทำงาน ไม่มีเก้าอี้ไหนที่เรียกได้ว่าดีที่สุดซึ่งเก้าอี้แต่ละตัวก็จะเหมาะสมกับผู้ใช้ที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในการมองหาเก้าอี้ก็คือมองหาเก้าอี้ที่เหมาะสมกับสรีระร่างกายของเรา

เก้าอี้การยศาสตร์ควรมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

          การพิจารณาเก้าอี้ที่เหมาะสมกับสรีระร่างกายของเรานั้นจำเป็นต้องพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ ได้แก่

ความสูงของที่นั่ง

          เก้าอี้ควรที่จะสามารถปรับความสูงของที่นั่งได้ง่าย โดยปกติแล้วการปรับระดับความสูงของที่นั่งจะใช้คันโยกปรับขึ้นลงด้วยระบบไฮโดรลิคซึ่งอยู่ข้าง ๆ เก้าอี้ ส่วนระดับความสูงของเบาะที่เหมาะสมนั้นสำหรับคนส่วนใหญ่ความสูงของเบาะควรสูงจากพื้นประมาณ 16-21 นิ้ว โดยที่ฝ่าเท้าของผู้ใช้ควรสามารถวางราบกับพื้นได้ โดยให้ต้นขาอยู่ในแนวนอนและแขนอยู่ในระดับเดียวกับความสูงของโต๊ะ

ความกว้างและความลึกของที่นั่ง

          เบาะนั่งควรจะมีความกว้างและความลึกที่เพียงพอเพื่อให้รองรับผู้ใช้งานได้อย่างหลากหลาย โดยปกติมาตรฐานความกว้างของเบาะควรจะกว้างอยู่ที่ 17-20 นิ้ว ความลึกหรือก็คือวัดจากด้านหน้าของเบาะไปจนถึงหลังเบาะต้องเพียงพอที่จะให้ผู้ใช้นั่งหลังตรงพิงเก้าอี้ตามหลักสรีรศาสตร์ได้ โดยการเว้นระยะระหว่างด้านหลังเขากับเบาะนั่งข้างหน้าของเก้าอี้ประมาณ 2-4 นิ้ว และเก้าอี้ควรจะสามารถปรับเอนไปด้านหน้าและด้านหลังได้

รองรับกระดูกสันหลังบริเวณเอว

          ในเก้าอี้การยศาสตร์การรองรับหลังส่วนล่างนั้นมีความสำคัญมาก และการนั่งเป็นเวลานานโดยที่ไม่มีอะไรมารองรับในส่วนนี้จะทำให้กระดูกงอได้ และทำให้โครงสร้างในกระดูกสันหลังส่วนล่างล้าได้ เก้าอี้การยศาสตร์ควรที่จะสามารถปรับความสูงและความลึกในบริช่วงเอวได้ เพื่อให้ผู้ใช้แต่ละคนปรับให้รองรับกระดูกสันหลังบริเวณเอวได้

พนักพิง

          พนักพิงของเก้าอี้ที่เหมาะสมนั้นควรมีความกว้าง 12-19 นิ้ว และหากพนักพิงนั้นแยกออกจากที่นั่ง พนักพิงควรที่จะสามารถปรับความสูงและสามารถเอนได้ และพนักพิงควรจะมีลักษณะโค้งเพื่อรองรับส่วนโค้งของกระดูกสันหลังได้ แต่หากพนักพิงและที่นั่งของเก้าอี้ติดเป็นชิ้นเดียวกัน พนักพิงควรเอนไปข้างหน้าและข้างหลังได้ และควรมีก้านล็อกเพื่อป้องกันไม่ให้พนักพิงเอนมากเกินไปเมื่อผู้ใช้ปรับระดับการเอนที่เหมาะสมไว้แล้ว

วัสดุ

          วัสดุของเก้าอี้และพนักพิงควรจะมีช่องว่างที่เพียงพอเพื่อให้นั่งได้นาน ๆ อย่างสบาย เช่น วัสดุทำจากผ้าที่สามารถระบายอากาศได้แทนวัสดุที่มีพื้นผิวแข็ง

ที่พักแขน

          ที่พักแขนบนเก้าอี้ควรที่จะสามารถปรับระดับความสูงได้ ปรับระดับที่พักแขนให้วางข้อศอกและปลายแขนไม่เกร็งจนเกินไป โดยปลายแขนไม่ควรวางอยู่บนที่พักแขนขณะพิมพ์งาน

หมุน

          เก้าอี้ปกติหรือเก้าอี้การยศาสตร์ควรที่จะสามารถหมุนได้ง่าย เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงส่วนต่าง ๆ ของโต๊ะได้โดยไม่ทำให้เกิดอาการเมื่อย

ตัวเลือกเพิ่มเติมสำหรับเก้าอี้ใช้ทำกับการทำงานที่เหมาะสม

          เก้าอี้การยศาสตร์ได้ถูกออกแบบมาในรูปแบบใหม่ ๆ โดยพยายามเพิ่มการรองรับต่าง ๆ ความสบาย และส่งเสริมท่านั่งที่ถูกต้องเพื่อเป็นทางเลือกอื่น ๆ แทนเก้าอี้แบบดั้งเดิม เก้าอี้เหล่านี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการทำความคุ้นเคยเล็กน้อย แรก ๆ อาจจะนั่งแล้วรู้สึกไม่สบายตัว แต่โดยปกติจะนั่งแล้วรู้สึกสบายเมื่อเวลาผ่านไป สำหรับคนบางคนที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างหรือรู้สึกไม่สบายในส่วนนั้นการใช้เก้าอี้ที่เหมาะสมกับสรีระประเภทต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะเป็นประโยชน์อย่างมาก

Image from cleanpng

เก้าอี้คุกเข่า

          เก้าอี้คุกเข่าเป็นเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิง โดยผู้ใช้นั่งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถปรับระดับเข่าซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมท่านั่งที่ถูกต้องโดยการขยับสะโพกไปข้างหน้าและจัดตำแหน่งหลัง ไหล่และคอ เก้าอี้แบบนี้จะมีส่วนแตกต่างจากเก้าอี้ปกติคือการมีที่รองรับหน้าแข้งเพิ่มเข้ามา เก้าอี้ประเภทนี้จะช่วยกระจายน้ำหน้าระหว่างกระดูกเชิงกรานและหัวเข่าซึ่งช่วยลดการกดทับของกระดูกสันหลัง ดังนั้นจึงช่วยลดความตึงและความเมื่อยของหลังส่วนล่างและกล้ามเนื้อขา เก้าอี้แบบนี้จะมีที่นั่งซึ่งเองไปข้างหน้าเพื่อให้กระดูกสันหลังอยู่ในตำแหน่งที่เป็นธรรมชาติ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการนั่งที่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมทำให้รู้สึกสบายและไม่ต้องเกร็งจนเกินไป

Image from  kindpng

เก้าอี้อานม้า

          เก้าอี้อานม้าเป็นเก้าอี้อีกประเภทที่เหมาะสมกับสรีระร่างกายของคนเรา ซึ่งสามารถใช้เป็นเก้าอี้โต๊ะทำงานและเก้าอี้โต๊ะคอมพิวเตอร์ เก้าอี้ประเภทนี้มีลักษณะคล้ายกับอานม้า ทำให้ผู้ใช้อยู่ในตำแหน่งกึ่ง ๆ นั่งกึ่ง ๆ ยืนคล้ายกับการขี่ม้า ช่วยให้ขาหย่อนลงพื้นอย่างเป็นธรรมชาติและกว้างขึ้นทำให้อยู่ในท่าที่ดีต่อสุขภาพและมั่นคง ท่านั่งแบบนี้มักจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มีปัญหากับหลังส่วนล่าง หากใช้งานเก้าอี้แบบนี้เป็นระยะเวลานานก็จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังได้ เก้าอี้เหล่านี้สามารถปรับความสูงในเหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคนได้ ซึ่งการออกแบบเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอาการที่เกิดขึ้นเมื่อนั่งเก้าอี้แบบดั้งเดิม เช่น ปัญหาระบบการไหลเวียนโลหิตและปัญหาการที่ชอบเอนตัวไปข้างหน้า

Image from favpng

เก้าอี้ลูกบอลออกกำลังกาย

          เก้าอี้ลูกบอลออกกำลังกายเป็นเก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระของร่างกายอีกประเภทซึ่งมีความแตกต่างไปจากเก้าอี้แบบปกติโดยสิ้นเชิง ตามชื่อของมันเป็นลูกบอลที่มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการให้ผู้ใช้ได้นั่งเป็นระยะเวลานาน ซึ่งสามารถใช้ได้กับโต๊ะทำงานและโต๊ะคอมพิวเตอร์ ข้อได้เปรียบสำคัญของเก้าอี้ประเภทนี้ก็ได้คือช่วยกระตุ้นให้เราเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา กระเด้งของลูกบอลเล็กน้อยจะช่วยให้ขาได้ขยับบ้าง ซึ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและทำให้กล้ามเนื้อทำงานอยู่ตลอดเวลา ช่วยลดความเครียดและความอ่อนล้าได้ การนั่งบนลูกบอลจะทำให้เรางอตัวได้ยาก และการนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้เราต้องทรงตัวอยู่บนลูกบอลนั้นจะทำให้ท่านั่งของเราดีขึ้นโดยอัตโนมัติ เก้าอี้ลูกบอลออกกำลังกายเหล่านี้มีขนาดที่แตกต่างกันไปซึ่งผู้ใช้ต้องค้นหาความสูงที่เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคน เก้าอี้ประเภทนี้บางแบบมีล้อเลื่อนเพิ่มเติมเข้ามาซึ่งเพิ่มความคล่องตัวให้กับเก้าอี้มากขึ้น และบางครั้งยังมาพร้อมกับพนักพิงอีกด้วย

Image from pngfind

เก้าอี้นอน

          สำหรับบางคนท่านั่งที่สบายที่สุดอาจจะเป็นท่าเองหลัง เช่น ผู้ที่เป็นโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมซึ่งท่านั่งที่สบายที่สุดมักจะเป็นท่าเอนหลังโดยการวางเท้าไว้บนที่พักเท้า สำหรับคนเหล่านี้ทางเลือกหนึ่งคือการใช้เก้าอี้ที่สามารถปรับเอนได้ขณะทำงาน หรือเก้าอี้ปรับเอนได้ที่มีโต๊ะเล็ก ๆ ติดมาด้วยและสามารถหมุนเก้าอี้เพื่อให้ทำงานได้อย่างสะดวก

เขียนโดย Akiraz

KAIO

อ้างอิงจาก Spine-health (ม.ป.ป.) Choosing the Right Ergonomic Office Chair, Available at: https://www.spine-health.com/wellness/ergonomics/office-chair-choosing-right-ergonomic-office-chair (Accessed: 11th November 2021).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *